วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

หนอนสมอเจ้าตัวแสบ

      หนอนสมอจะมีลักษณะเหมือนกับสมอเรือคือส่วนหัวของมันจะมีลักษณะเป็นสมอเรือใช้ฝังเข้าไปตามเนื้อเยื่อต่างๆของปลาเพื่อดูดกินเลือดและของเหลวในตัวปลา เราจะเห็นเพียงแค่ส่วนของลำตัวและหางเป็นเส้นคล้ายๆกับด้ายสีขาวความยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร เห็นได้ชัดบริเวณที่หนอนสมอเกาะอยู่นั้นจะมีอาการบวมแดงเป็นรอยช้ำๆเป็นจ้ำเลือด  เจ้าหนอนสมอจัดว่าเป็นปรสิตภายนอกชนิดหนึ่งที่จะอาศัยอาหารจากปลาที่ถูกมันเกาะซึ่งจะสร้าง ความรำคาญแก่ปลาอย่างมากจนบางครั้งอาจจะทำให้ปลาไม่ยอมกินอาหารจนตายได้เลย โดยส่วนมากแล้วเจ้าหนอนสมอมักจะเกิดขึ้นกับปลาที่มีเกล็ดซึ่งมันจะชอบฝังตัวอยู่ใต้เกล็ดตามครีบตามซอกมุมต่างๆ เช่น โพรงจมูก ซอกครีบ ซอกเหงือก รูทวาร และปลาที่ถูกมันเกาะก็จัดว่าเป็นตัวพาหะที่สามารถไปเผื่อแผ่ให้ตัวอื่นได้  โดยเจ้าหนอนสมอนี้เมื่อได้รับอาหารอย่างเพียงพอก็จะปล่อยไข่จำนวนมากในแหล่งน้ำนั้นๆเมื่อไข่ที่ถูกพักเป็นตัวอ่อน  ตัวอ่อนเหล่านี้ก็จะเดินทางหาแหล่งอาหาร เข้าเกาะตามตัวปลา ซึ่งทำให้ปลาทุกตัวที่อยู่บริเวณนั้นประสบกับเจ้าหนอนสมอตัวแสบได้  มีอยู่หนึ่งตัวอย่างที่ผมได้ทำการรักษามาคือผู้เลี้ยงปลามือใหม่ได้ปลามาใหม่มีหนอนสมอติดอยู่ 1 ตัว แต่เจ้าของไม่รู้เรื่องเลย และไม่ค่อยพอใจเจ้าปลาตัวใหม่นี้เท่าไหร่  เลี้ยงได้ประมาณ 3 วันก็เปลี่ยนปลาตัวใหม่มาลงแทนในตู้เดียวกันหลังจากนั้นประมาณ 5 วันผู้เลี้ยงปลาผู้นี้ก็โทรมาถามผมว่ามันเป็นอะไรคุยกันอยู่สักพัก ผมก็สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นหนอนสมอ ผมก็รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุพอได้เห็นแล้วอึ้งเลย  เจ้าหนอนสมอตัวแสบเกาะอยู่บนตัวของปลาเจ้ากรรมเต็มไปหมดประมาณ 30 กว่าตัว จากเหตุการณ์พอจะทำให้ท่านนึกภาพออก  ว่าเจ้าเนี่ยจะวางไข่ไว้ในน้ำ ถึงแม้เจ้าปลาพาหะไม่ได้อยู่ด้วยก็สามารถแผลงฤทธิ์ได้ ยิ่งเป็นตู้ที่มีระบบกรอง ที่กรองนั้นเป็นที่ฟักตัวของหนอนสมอเป็นอย่างดีเลย คือไม่ว่ามันเคยไปที่ไหนมาบ้างก็จะสามารถสร้างความเสียหายได้ทุกที่ที่มันเคยไป ท่านผู้เลี้ยงจึงไม่ควรวางใจ
      อาการ  ปลาที่มีหนอนสมอเกาะอยู่ในจำนวนที่ไม่มากจะไม่แสดงอาการอะไรมากนอกจากรำคาญและกินอาหารปกติ    แต่ถ้าปลาที่มีหนอนสมอเกาะอยู่จำนวนมากก็จะแสดงอาการชัดเจนคือ ไม่กินอาหาร  รำคาญจะเอาตัวถูกับตู้ตลอดเวลา มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณที่มีหนอนสมอเกาะอยู่เป็นกลุ่ม  มีจ้ำเลือดบริเวณที่ถูกหนอนสมอเกาะ ในบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนๆอาจมีอาการบวมแดง( อักเสบ )ร่วมด้วย
   การรักษา ทำได้หลายวิธี อาจจะใช้ยาหรือวิธีศัลยกรรม ถอนหนอนสมอตัวแสบออกไปเลยก็ได้  ที่สำคัญจะต้องถอนรากถอนโคนเจ้าตัวร้ายให้สิ้นซาก  แนะนำให้ผู้เลี้ยงย้ายปลาที่ป่วยไปรักษาอีกที่แล้วทำการฆ่าเชื้อตู้ปลาที่เลี้ยงโดยการขัดตู้ให้สะอาด แล้วถ่ายน้ำออกให้หมด รวมทั้งน้ำในกรองด้วยผึ่งตู้ไว้ประมาณ2-3วันโดยที่เปิดไฟทุกดวงทิ้งไว้ตลอดเวลา เสร็จแล้วใส่น้ำรันระบบน้ำเหมือนตอนเลี้ยงปลาแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน
แล้วแต่ยาที่ใช้( ต้องใส่ยาในระบบกรองต่างหากด้วย )เมื่อครบกำหนดแล้วก็ถ่ายน้ำออกให้หมดผึ่งตู้ทิ้งไว้ประมาณ2-3วัน แล้วแต่ยาที่ใช้ ยาที่ใช้ฆ่าเชื้อนั้นมีหลายชนิดจะเป็นยาที่ใช้รักษาก็ได้แต่เราจะใช้ในปริมาณที่เข้มข้น  ด่างทับทิม ก็ใช้ได้ ซึ่งวิธีใช้ วิธีการล้างออก วิธีทำให้สลายตัวจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าถนัดใช้ยาตัวไหน หรือแล้วแต่สถานการณ์นั้นว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจะสามารถที่จะประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ( ข้อควรระวังในการฆ่าเชื้อในสถานที่เลี้ยงจะต้องมีความรู้และทำได้อย่างถูกวิธีจริงๆ เพราะปลามังกรเป็นปลาที่ไวต่อสารเคมีมาก จะต้องระวังเรื่องสารเคมีตกค้างเป็นพิเศษ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น